เราเปิดหัวเรื่องที่คำถามที่ค่อนข้างอ่อนไหวและกระทบจิตใจกับผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นมาก่อน สำหรับใครที่ยังไม่เคยตกอยู่ในสภาวะนี้อาจแค่อ่านผ่านตาแล้วก็รู้สึกเฉย ๆ ส่วน ใครที่เคยตกอยู่ในสถานการณ์นี้มาก่อน ก็อาจจะรู้สึกถูกสะกิดความหลังจนต้องติดแฮชแท็ก #throwback ให้กับฟิลลิ่งนี้ อย่างไรก็ตามเมื่อวันหนึ่งเราพลาด…แล้วเราควรจัดการเรื่องนี้อย่างไร SOtraveler.com ได้รับเกียรติจากคุณเจเจ ผู้ที่เคยมาถ่ายทอดประสบการณ์“การบริการแบบ Private Service”ให้พวกเราได้ติดใจกันมาก่อนหน้านี้ คราวนี้เรามาติดตามกันต่อว่า คุณเจเจจะแนะนำเทคนิคในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโปรเฟสชั่นนัลจากเหตการณ์ที่ไม่คาดฝันเหล่านี้ได้อย่างไร มาติดตามอ่านกันเลยครับ
SOCIAL ETIQUETTE
ฝันร้ายสุดในการออกงานเลี้ยง Formal sit down dinner…
บางคนบอกซิปแตก เป้าขาด
บางคนบอกไม่มี เพราะไม่ไปงานแบบนี้แน่ๆ ช้อนส้อมเยอะไปหมด กลัวหยิบผิดหยิบถูก
เรื่องเอททิเคทต์ (Etiquette) หรือมารยาทสังคมนี้ เมื่อตอนเด็กๆ เราเองเคยรู้สึกว่าเรื่องนี้มันช่างยุ่งยากเหลือเกินที่ต้องคอยระวังไปซะทุกเรื่อง มีใครเคยคิดแบบนี้เหมือนกันมั้ย? แต่จากการทำงานที่ต้องเดินทางไปรอบโลก พบปะผู้คน ได้ทำงานดูแลบุคคลสำคัญของโลกในหลายๆวงการมามากมาย เราพบว่าเอททิเคทต์ไม่ใช่เรื่องถนัดของทุกคน
ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสได้เห็นอภิมหาเศรษฐีชื่อดังท่านนึงยืนคุยกับเซเลปชาวต่างชาติวงการกีฬาค่าตัวหลักหลายล้านด้วยภาษาอังกฤษที่ broken สำเนียงพลาด แกรมม่าผิด แต่ท่านคุยอย่างไม่อึดอัดและไม่คิดว่านั่นเป็นอุปสรรคของการสื่อสาร หรือถ้าพูดตามสำนวนภาษาอังกฤษเค้าก็จะบอกว่าเป็นการสนทนาแบบ ‘Comfortable in his skin’
คิดว่าเซเลปชาวต่างชาติที่คุยด้วยมีปฎิกิริยาตอบโต้กลับแบบไหนกัน?
เฉลยค่ะ ว่าเค้าคุยกันสนุกทั้งคืน
ท่านให้เกียรติคนอื่น ท่านโยนเรื่องหน้าตาความเป็นอภิมหาเศรษฐีทางสังคมทิ้งไป แล้วก้าวข้ามข้อจำกัดทางภาษามาทำความรู้จัก ทักทายถามสารทุกข์สุกดิบ ดูแลแขกในงาน นี่คือมารยาทที่ดีที่ควรปฎิบัติ(Good Manners)
เอททิเคทต์ (Etiquette) เป็น set of social rules คือ กฏ กติกาที่บอกไว้เช่น เราต้องหยิบมีดส้อมที่วางจากนอกสุดก่อนเพื่อทานสตาร์ทเตอร์แต่ แมนเนอร์ (Manners) คือ มารยาทที่เราจะไม่หัวเราะเยาะ ถ้าคนอื่นหยิบอุปกรณ์ใช้ผิดอัน
Etiquette แสดงออกภายนอก Manners เริ่มต้นจากภายใน
ซึ่งหากเราจะแสดงออกได้ถูกต้อง เราก็ต้องคิดอย่างถูกต้องด้วย
หากเกิดเหตุโป๊ะขึ้นมาระหว่างการออกงานแบบเป็นทางการ เราแนะนำให้ลองนึกถึงหลักการสองข้อดังต่อไปนี้
“Stay In Control” และ “Be Kind”
Stay in Contriol : ตอนที่เรียนวิชา British Butler อยู่ที่ลอนดอน อาจารย์ท่านสอนเรื่องเอททิเคทต์ด้วย ด้วยงานของเราที่ต้องคิด บริหารดูแลนาย เราก็ต้องแต่งตัวและวางตัวให้ดูดี แต่ Essence ของการจัดการตัวเองให้ดี ลึกซึ้งกว่านั้นมาก มันไม่ใช่แค่ลุคค่ะ ท่าที การแสดงออกของเราต้องสื่อสารออกมาแทนคำพูดได้ว่า ‘I’m in charge here.’
หากเกิดเหตุเฉพาะหน้าขึ้นมา ‘Stay in control’ ก่อนค่ะ ตั้งสติให้ดี แสดงออกให้พอดี ถ้าต้องขอโทษอย่าทำมากจนดูขาดความมั่นใจ อย่าน้อยเกินไปจนดูไม่แคร์ ถ้าเรา ‘Control’ ได้ดี เหตุการณ์ผิดพลาดก็สามารถอยู่ ‘Under control’ ได้ค่ะ
Be Kind : เหตุผลของการมีมารยาทสังคมคืออะไร? ทำไมเราต้องรู้จักขอบคุณ ขอโทษ และ ทำตามกฏเกณฑ์ต่างๆ? เอททิเคทต์มีไว้เพื่อให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข วิชานี้สอนให้เราแสดงออกอย่างถูกต้องเพราะเรายังต้องใส่ใจซึ่งกันและกันอยู่ Essence หรือ “หัวใจสำคัญของเอททิเคทต์” คือ Kindness ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ลองถามตัวเองดูก่อนว่า สิ่งที่ฉันกำลังจะลงมือทำ เพื่อแก้สถานการณ์ นั้นเรามีเมตตาต่อตัวเองและคนอื่นหรือยัง เช่น เผลอทำแก้วไวน์หกล้ม อย่าไปโทษว่าพนักงานวางแก้วไม่ดี เราควร ‘Stay in control’ ขอโทษและจัดการทำสิ่งที่ทำได้ ณ ตอนนั้น
เอททิเคทต์ (Etiquette) เป็นเรื่องที่ฝึกและเรียนรู้ได้ ที่สำคัญคือ อย่าห่วงเอททิเคทต์จนลืม ‘Connect’ กับคนตรงหน้า เรามาร่วมงานแล้วก็ต้องมีความสุขกับงานที่เจ้าภาพตั้งใจจัดให้ด้วย เราคิดว่าการเป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้นมาอีกนิดนึง ไม่มีอะไรต้องเสียมากมายนักค่ะ ยิ้มเพิ่มขึ้นอีกนิด ใส่ใจคนอื่นเพิ่มขึ้นอีกหน่อย กิริยาที่น่ารักพูดแทนเราได้เป็นร้อยคำ เหมือนประโยคฝรั่งที่กล่าวไว้ว่า Your Manners Are Your Beauty.